ทางการแพทย์แบ่งการคลอดเป็น 2 ประเภท คือ การคลอดปกติ และการคลอดแบบผิดปกติ ซึ่งการคลอดปกตินั้นเป็นการคลอดทางช่องคลอดที่คุณแม่สามารถคลอดได้เองตามธรรมชาติ (Natural Birth หรือ Active Birth) ซึ่งคุณแม่เป็นจุดศูนย์กลางของกระบวนการคลอด แพทย์ หรือพยาบาลแทบจะไม่เข้าไปแทรกแซงในกระบวนการเพื่อคงความเป็นธรรมชาติมากที่สุด และไม่ใช้เครื่องมือ หรือยาปฏิชีวนะช่วยในการทำคลอด... ซึ่งปัจจุบันคุณแม่สามารถเลือกได้ว่าจะคลอดในน้ำ หรือจะเลือกเป็นการยืน - นั่งคลอด หรือคลอดบนเตียงก็ได้
สำหรับการคลอดในน้ำ ซึ่งหลาย ๆ คนหันมาให้ความสนใจมากขึ้นนั้น เป็นการคลอดตามธรรมชาติอีกรูปแบบหนึ่ง โดยเน้นให้คุณแม่เจ็บท้องคลอดมาเอง ซึ่งปากมดลูกจะนิ่ม และเปิดได้เอง ซึ่งการคลอดในน้ำเช่นนี้ไม่ใช้ยาเร่งคลอดกับคุณแม่ และไม่ใช้เครื่องมือใดๆ ช่วยในการคลอด แต่จะใช้วิธีธรรมชาติบำบัด เช่น แช่น้ำอุ่นในอ่างทำคลอดช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว และทำให้สารความสุขหลั่งออกมา ซึ่งโดยธรรมชาติจะมีการหลั่งสารลดความเจ็บปวดในการเบ่งคลอดอยู่แล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับความอดทนได้ของคุณแม่ในแต่ละคน... นอกจากนั้น ยังมีการนวด เปิดเสียงเพลง และกลิ่นอโรมา เพื่อช่วยในแง่ของความรู้สึกเกิดความผ่อนคลาย จนทำให้คุณแม่ทนอยู่กับอาการเจ็บปวดระหว่างการเบ่งคลอดได้
ทั้งนี้ การคลอดในน้ำจะหลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะ ยกเว้นมีการร้องขอจากคุณแม่ในการใช้ยาลดความเจ็บปวดระหว่างการเบ่งคลอด ซึ่งก็ต้องอยู่ในความดูแลของคุณหมอผู้ทำคลอดอย่างใกล้ชิด โดยคุณแม่สามารถเลือกคลอดในน้ำได้ แต่ต้องเป็นการตั้งครรภ์แบบปกติ และเด็กกลับตัวอยู่ในท่าหัวลง ไม่ได้อยู่ในท่าก้นลง
สำหรับการคลอดผิดปกติ ซึ่งเป็นการคลอดในภาวะที่มีข้อบ่งชี้ หรือแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าไม่สามารถคลอดได้เองตามธรรมชาติ จึงทำการคลอดทางปากช่องคลอดโดยใช้น้ำเกลือเร่งคลอด หรืออาจมีการใช้เครื่องดูดแบบสูญญากาศ ซึ่งใช้ในกรณีที่คุณแม่ไม่มีแรงเบ่งคลอดเอง หรือการใช้คีมช่วยดึงเด็กออกมาขณะที่มดลูกคุณแม่บีบตัวซึ่งใช้ในกรณีที่ลูกไม่ยอมหมุนตัวออกมาทางปากช่องคลอด
| |||
คุณมีนะ สพสมัย พยาบาลผู้เชี่ยวชาญ กรรมการมูลนิธิส่งเสริมการคลอด และการเลี้ยงดูด้วยนมแม่แห่งประเทศไทย วิทยากรในกิจกรรมดังกล่าว เปิดเผยว่า "ความตื่นเต้นหรือความหวาดกลัวการไปคลอดเกิดขึ้นกับคุณแม่ทุกคน ซึ่งเรื่องของการคลอดจะง่าย หรือยาก และรู้สึกดี ไม่ดีนั้น ไม่ใช่เรื่องของคุณแม่คุณลูกเพียงอย่างเดียว ยังขึ้นอยู่กับทุกคนที่อยู่รอบข้างด้วยไม่ว่าจะเป็น พยาบาลที่คอยช่วยเหลือ หรือคุณหมอแต่ละท่านในห้องคลอดที่จะให้ความรู้หรือแม้กระทั่งคุณพ่อที่จะ คอยให้กำลังใจ คุณแม่ตลอดระยะเวลาของการคลอดยิ่งมีความสำคัญกับความยากง่าย และประสบการณ์ในการคลอดทั้งหมด เมื่อเรามีการเตรียมพร้อมในเรื่องของกำลังใจแล้ว คุณแม่ควรใฝ่หาความรู้ในเรื่องของการปฏิบัติตนก่อนไปคลอด เพื่อนำกลับไปทำความเข้าใจกับคนที่บ้าน และไม่ทำให้คุณแม่รู้สึกหวาดกลัวยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับตัวคุณแม่เองที่จะได้ฝึกจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกกลัวได้ในแต่ละช่วงของการเจ็บท้องคลอด"
"ซึ่งปกติกำหนดของการคลอดอาจมีความคลาดเคลื่อนเร็วกว่า หรือช้าไปจากคุณหมอกำหนดประมาณ 2 สัปดาห์ และส่วนมากอาการของเวลาเจ็บท้องคลอดนั้นมีความแตกต่างกันในแต่ละคน บางคนอาจจะส่งเสียงร้องโวยวายมาแต่ไกลโดยไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ทั้งๆที่นิสัยเดิมไม่ได้เป็นคนเช่นนั้น ในขณะที่บางคนอาจเก็บอารมณ์ นิ่งและสุขุม ดังนั้น คุณพ่อควรทำความเข้าใจเป็นอย่างมาก ยิ่งท้องแรกระยะการเจ็บท้องจนถึงการคลอดจะเป็นไปได้ถึง 10-12 ชั่วโมง เป็นการเจ็บท้องเป็นระยะๆ หรือมดลูกบีดรัดตัวทุกครึ่งชั่วโมง มีช่วงให้ผ่อนคลายเรียกว่าการ “เจ็บท้องเตือน” ซึ่งในระยะนี้คุณแม่ยังไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล แต่เมื่อใดมีการเจ็บท้องในลักษณะที่มดลูกบีบรัดตัวทุก 10-15 นาที และถี่แรงทุก 2 นาทีคือภาวะการ “เจ็บท้องจริง” ควรเริ่มมาพบแพทย์แต่ยังมีเวลาให้ตั้งหลักอยู่"
"ทั้งนี้ มดลูกจะเริ่มมีการหดรัดตัวถี่อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งปกติเมื่อครบ 1 ชั่วโมง ปากมดลูกจะเปิด 1 เซนติเมตร โดยสัญญาญที่แสดงให้รู้ว่าใกล้คลอดแล้วคือปากมดลูกเปิดครบ 10 เซนติเมตร ทั้งนี้คุณแม่ยังต้องรอการเบ่งคลอดอีกประมาณ 2 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นระยะเวลาที่คุณแม่เจ็บท้องคลอดนั้น คุณพ่อ หรือคนใกล้ชิดยังมีเวลาเตรียมตัวกัน"
| ||
ลักษณะอาการของคนใกล้คลอดจะมีความแตกต่างกันในแต่ละคน โดย 15% ของคุณแม่จะมีภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนที่มดลูกบีบรัดตัว ส่วน 85% มีอาการบีบรัดตัวของมดลูกก่อนที่ถุงน้ำคร่ำจะแตก แต่ภาวะอาการเหล่านี้ก็ไม่หมายความว่าเด็กจะคลอดออกมาทันที
ทั้งนี้ คุณแม่ควรสังเกตลักษณะ จังหวะการบีบรัดตัวของมดลูก ซึ่งสามารถจับความรู้สึกของมดลูกคลายตัว และแข็งตัวได้ ซึ่งการนับจังหวะ หรือระยะเวลาห่างระหว่างมดลูกหดรัดตัว และคลายตัว จึงถือเป็นประโยชน์สำหรับแพทย์ในการวินิจฉัยเบื้องต้นสำหรับช่วงเวลาทำคลอดได้ จากนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจในเรื่อง การดิ้นของลูกในท้อง หลังจากที่ถุงน้ำคร่ำแตกด้วย เพราะเป็นการบอกถึงความแข็งแรงของลูกได้ ซึ่งพัฒนาการต่างๆ ของลูกสามารถสังเกตได้จาก การตอบสนองผ่านการดิ้นของลูก ดังนั้น ก่อนจะถึงภาวะใกล้คลอดนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างความเคยชินกับลูกตัวน้อย โดยการหมั่นพูดคุยกับลูกในท้อง เพราะถือว่ามีความสำคัญต่อสมอง และพัฒนาการของลูกมาก ซึ่งเสียงผู้ชาย (พ่อ) กับเสียงผู้หญิง (แม่) เวลาพูดคุยมีความแตกต่างกัน เพราะความถี่ของคลื่นเสียงต่างกัน และทำหน้าที่กระตุ้นสมองในส่วนที่ต่างกัน และน้ำเสียงที่ให้ลูกได้ยินตั้งแต่ท้อง 7 เดือนขึ้นไปเป็นเสียงที่ลูกสามารถจำได้ และรู้สึกปลอดภัยเมื่อได้ยินเสียงในลักษณะนี้ ซึ่งมีการศึกษาวิจัยถึงเสียงเพลงที่เปิดในระหว่างช่วงการตั้งครรภ์ เวลามาเปิดซ้ำอีกครั้งหลังจากคลอดแล้ว สามารถทำให้เด็กหยุดร้องไห้ สงบอารมณ์ลงได้อย่างน่าเหลือเชื่อ...
ศศิพินทุ์ อุษณีย์มาศ บรรณาธิการนิตยสาร Modern Mom กล่าวถึงกิจกรรมทัวร์ห้องคลอดครั้งนี้ว่า “การคลอดลูก เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งในชีวิตของการเป็นผู้หญิงและการเป็นแม่ แน่นอนว่ามีว่าที่คุณแม่หลายๆ คนอาจกังวลกับเรื่องนี้ จึงเป็นที่มาที่นิตยสาร Modern Mom จัดกิจกรรมพิเศษพาคุณพ่อคุณแม่ทัวร์ห้องคลอด เพื่อทำความรู้จักกับวิธีการคลอดในแบบต่างๆ พร้อมสัมผัสกับบรรยากาศจริง รวมถึงได้รับคำแนะนำดีๆ จากผู้เชี่ยวชาญด้านการคลอด ซึ่งเราเชื่อว่าจะช่วยให้คุณแม่เตรียมตัวได้อย่างถูกต้อง และเกิดความมั่นใจในการคลอดที่ปลอดภัยทั้งแม่ และลูกค่ะ”
จากผู้จัดการออนไลน์
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9520000094267
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น